วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เลนส์เสริมดวงตา นวัตกรรมใหม่...ของผู้มีปัญหาทางสายตา

รอบรู้รอบตัว

เลนส์เสริมดวงตา นวัตกรรมใหม่...ของผู้มีปัญหาทางสายตา 
โดย จรรยา เงินมูล ประชาสัมพันธ์สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เทคโนโลยีอันก้าวหน้าล้ำสมัย เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์ทุกคน มีอยู่ มากมายหลายอย่าง แต่ที่กำลังบูมเป็นจุดสนใจของบุคคลซึ่งผิดปกติทางสายตาในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น "เลนส์เสริมดวงตา"

แพทย์เผยทางออกใหม่ให้แก่ผู้ที่มีปัญหาสายตา สั้นยาวมากผิดปกติ ที่ไม่สามารถใส่คอนแทค เลนส์หรือทำเลสิกได้ โดยให้ใส่เลนส์เสริม (Phakic Lenses) เข้าไปในดวงตา ซึ่งถือเป็นการรักษาดวงตาสมัยใหม่ที่สามารถทำให้ดวงตากลับมีสภาพเหมือนเดิมได้ ด้วยการถอดเลนส์ออกหากเกิดความผิดปกติ ไม่เหมือนกับเลสิก ซึ่ง ไม่สามารถทำกลับเหมือนเดิมได้หากผลการรักษาไม่เป็นที่พอใจ มั่นใจแพทย์ไทยมีความชำนาญเพียงพอ เพราะทำมาแล้ว 2 ปี ให้ผลปลอดภัยไม่มีผลข้างเคียง 

นายแพทย์นพรัตน์ สุจริตจันทร์ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใส่เลนส์เสริมดวงตาโรงพยาบาลจักษุรัตนิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีปัญหาสายตาผิดปกติจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใส่แว่นตา ใส่คอนแทคเลนส์ และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์หรือวิธีเลสิก ที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน แต่วิธีดังกล่าว ยังมีขีดจำกัดเฉพาะในผู้ที่มีสายตาสั้น ยาว ในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยวิธีเลสิกจะได้ผลดีในผู้ที่มีสายตาสั้นไม่เกิน 1,200-1,500 หรือยาวไม่เกิน 500 

“เลสิคถูกนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณปี 2537 โดยเริ่มแรกผู้บริโภคหรือคนไข้ ยังไม่เข้าใจในความพิเศษและความ ปลอดภัยของเลสิคเท่าที่ควร ซึ่งแท้จริงแล้ว เลสิคเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือ ยาวในระดับปานกลางถึงมาก รักษาโดยเปิดกระจกตาด้านนอกออกด้วยเครื่องพิเศษ แล้วใช้ Excimer Laser เจียส่วนโค้งของกระจกตาให้ลดลงเพื่อปรับจุดรวมแสงให้ตกพอดีบนจอ ประสาทตา ทำให้สายตาเป็นปกติอันใช้เวลาผ่าตัดเพียง 20 นาทีเท่านั้น และการผ่าตัดยังเป็นไปด้วยความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ยิ่งในปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์ เข้ามาใช้ทำให้การคำนวณการเจียกระจกตา เป็นไปอย่างแม่นยำ มากขึ้น แต่ทั้งนี้ ในขั้นตอนการทำจักษุแพทย์ ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความละเอียดในการผ่าตัดด้วยเป็นสำคัญ 

สำหรับค่าผ่าตัดรวมทั้ง 2 ข้าง ยังไม่แพงมากอยู่ในระดับราคาไม่เกิน 60,000 บาท แต่จะแตกต่างไปตามโรงพยาบาลนั้นๆ อย่างโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ซึ่งเป็นเอกชนค่าผ่าตัด 1 ข้างคิด 29,000 บาท ผ่าตัด 2 ข้างราคา 56,500 บาท ส่วนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรัฐบาลคิดค่าผ่าตัด 1 ข้าง ราคา 20,000 บาท ผ่า 2 ข้างราคา 40,000 บาท เป็นต้น “แต่สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ มักจะมีข้อจำกัดในการรักษา เพราะใส่แว่นตาก็ลำบากเนื่องจากเลนส์จะหนาและหนักมาก ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ได้ เพราะหาเลนส์ได้ยาก หรือทำเลสิกก็ไม่ได้เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องความหนาและความโค้งของกระจกตา เพราะการทำเลสิกต้องลอกผิวกระจกตาด้านใน เพื่อเปลี่ยนความโค้งของกระจกตาด้านในให้ได้กำลังโฟกัสที่ต้องการ ซึ่งการเปลี่ยนความโค้งของกระจกตานี้มีขีดจำกัดในคนไข้ที่มีกระจกตาบางเกินไป หรือในผู้ที่มีความโค้งของกระจกตาน้อย ซึ่งจะมีผลทำให้การแก้ไขสายตาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น จักษุแพทย์จะไม่แนะนำวิธีเลสิกในผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ ” นพ. นพรัตน์ กล่าว และยังเสริมว่า 

“ในปัจจุบันวงการจักษุแพทย์ทั่วโลก ได้มีการนำวิทยาการด้านการรักษาสายตาสั้น-ยาวด้วยวิธีการผ่าตัดโดยใส่เลนส์เสริม (Phakic Intraocular Lens) เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่งให้ความแม่นยำใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก และมีความปลอดภัยในระยะยาวพอๆ กับการทำเลสิก เพราะวิธีการใส่เลนส์เสริมเป็นการใส่เลนส์ที่มีกำลังโฟกัสพอดีเสริมเข้าไปภายในลูกตา โดยที่ไม่ต้องเอาเลนส์ตาจริงออก จึงทำให้เหมือนธรรมชาติที่สุด“

"นอกจากนี้ การใส่เลนส์เสริม ยังสามารถถอดออกได้ ถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ขณะที่การทำเลสิกเป็นวิธีการรักษาแบบถาวร โดยการปรับความโค้งของกระจกตา เพื่อให้มีกำลังโฟกัสตามที่ต้องการ ซึ่งกระจกตาส่วนที่ถูกปรับแต่งไปนั้น แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนกลับคืนให้มาเหมือนเดิมได้อีก" 

ทั้งนี้ การผ่าตัดใส่เลนส์เสริมกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในแถบยุโรป ส่วนในประเทศไทยได้มีการนำเลนส์เสริมมาใช้แล้วกว่า 2 ปี โดยนพ. นพรัตน์ สุจริตจันทร์ เป็นจักษุแพทย์ไทยที่ริเริ่มศึกษาและทำการรักษาด้วยวิธีนี้ 

จากประสบการณ์การผ่าตัดของ นพ.นพรัตน์ ที่ได้ผ่าตัดใส่เลนส์เสริมให้กับผู้มีปัญหาด้านสายตากว่า 50 ดวงตาทั้งในคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเดินทางมารับการรักษาที่ประเทศไทย ผู้รับการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมส่วนใหญ่มีอายุตั้งแต่ 22 ปี ถึง 40 กว่าปี และมีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุด คือ 2,500 และสายตาสั้นน้อยที่สุดคือ 700 ซึ่งทำเลสิกไม่ได้เพราะกระจกตาบางเกินไป 

“วิธีการผ่าตัดใส่เลนส์เสริม คือการผ่าตัดเป็นแผลเล็กๆ แล้วเอาเลนส์ชนิดพิเศษใส่เข้าไปภายในลูกตา โดยจะใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณครึ่งชั่วโมง และหลังผ่าตัดคนไข้สามารถกลับบ้านได้ทันที แต่สิ่งที่ผู้รับการผ่าตัดต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ หลังการผ่าตัด 7 วัน ต้องไม่ขยี้ตา และถ้าเป็นโรคทางตาอย่างอื่น เราจะไม่แนะนำให้ทำ และการรักษาวิธีนี้จะเป็นแนวทางสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำหลังจากที่วิธีอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าการทำเลสิกเล็กน้อย เพราะราคาเลนส์พิเศษนี้ค่อนข้างสูงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น” 

ทั้งนี้ ชนิดของเลนส์เสริมมี 3 ชนิด คือ 

1. ใส่อยู่ระหว่างเลนส์ตากับม่านตา ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดต้อกระจกได้ เพราะเลนส์จะไปเสียดสีกับเลนส์ตาที่อยู่ด้านหลังได้ 

2. เกาะอยู่ที่มุมหน้าม่านตา ซึ่งอาจทำให้ม่านตาเบี้ยวและเกิดต้อหินได้ 

3. เกาะอยู่ที่ม่านตา เรียกว่า อาร์ติสันเลนส์ (ARTISAN LENS) ที่มีขนาดเล็กและเบา ผลิตจากพลาสติกพิเศษชนิดเดียวกับที่ใช้ทำเลนส์เทียม (IOL) ซึ่งเป็นเลนส์เสริมที่จักษุแพทย์ทั่วโลกให้การยอมรับในด้านความปลอดภัยสูง และผลแทรกซ้อนน้อยเมื่อเทียบกับสองชนิดแรก และเป็นเลนส์ชนิดที่ใช้ในประเทศไทย โดยเลนส์ชนิดนี้สามารถรักษาสายตาสั้นได้ตั้งแต่ 500-2,300 สายตายาวตั้งแต่ 300-1,200 และสายตาเอียงไม่เกิน 200 

แต่สิ่งที่อยากจะฝากถึงผู้ที่ตัดสินใจผ่าตัดตาด้วยวิธีการใด ๆ หรือเหตุผลใดๆ ก็ตาม ควรจะคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด โดยการศึกษาถึง วิธีการผ่าตัด เลือกโรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือ หมอที่มีคุณวุฒิและคุณภาพ เพราะดวงตาของเรามีเพียง 2 ข้างเท่านั้นในโลกนี้ ถ้าเสียไปแล้วไม่สามารถจะเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนกับเรื่องสาวๆ ที่อยากสวย อยากผอมจนยอมตัดซี่โครงทิ้ง ทำตัวเองไม่สมประกอบดังที่เป็นข่าวครึกโครมนั้น คงเป็นอุทาหรณ์ ให้กับใครอีกหลายๆ คน ได้ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ...หรือคุณคิดว่าอย่างไร... 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

**ข้อมูลที่ปรากฎบนฐานข้อมูลนี้ อัพเดทล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2549**
ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สนับสนุนข้อมูลโดย สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บริหารโครงการโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตู้ ปณ. 111 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่ 50202 E-mail: teenet@ist.cmu.ac.th


ที่มา : http://teenet.cmu.ac.th/emac/journal/2003/18/07.php


นพ.นพรัตน์ สุจริตจันทร์ 
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแพทย์ ศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล 

รู้หรือไม่?
ที่ศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล มีเลนส์เสริมหลายชนิด มีทั้งที่ไม่มีรู หรือที่เรียกว่า เลนส์เสริม ICL ซึ่งคนไข้ต้องทำ YAG Pi ล่วงหน้าก่อนผ่าตัดใส่เลนส์เสริม และยังมีเลนส์เสริมชนิดมีรู ซึ่งคนไข้สามารถทำการผ่าตัดใส่เลนส์เสริมได้เลยโดยไม่ต้องทำ YAG Pi

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น