วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Ferrara ring implantation เฟอราร่า ริง วงแหวนรักษาโรคกระจกตาโป่ง KERATOCONUS

Ferrara ring implantation เฟอราร่า ริง วงแหวนรักษาโรคกระจกตาโป่ง KERATOCONUS

            เป็นการผ่าตัดที่ทำในผู้ป่วยโรคกระจกตาโป่ง(keratoconus) กระจกตาย้วย (Pellucid marginal degeneration) กระจกตาโป่งหลังทำเลสิค (Post-LASIK ectasia) และสายตาเอียงหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (High astigmatism post keratoplasty) 

            ผู้ริเริ่มทำการผ่าตัดดังกล่าว คือ Dr. Paulo Ferrara โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1996 ใช้หลักการที่ว่าการเสริมปริมาตรใดๆในเนื้อของกระจกตารอบนอกจะทำให้กระจกตามีความโค้งน้อยลง (แบนลง) มีผลทำให้กระจกตาที่มีความโค้งผิดปกติจากโรคดังกล่าวข้างต้นมีความโค้งที่สม่ำเสมอขึ้น แบนลง สายตาเอียงลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการมองเห็นด้วยตาเปล่าชัดเจนขึ้น กระจกตามีความแข็งแรงมากขึ้น ทั้งนี้ยังช่วยชะลอการโป่งมากขึ้นของผู้ป่วยโรคกระจกตาโป่งได้ 

             Ferrara ring เป็นวงแหวนอะคริลิคซึ่งมีขนาดความหนาตั้งแต่ 0.15, 0.20, 0.25, 0.30 และ 0.35 มม. และ มีความยาวต่าง ๆ กันหลายขนาด การเลือกจำนวนของวงแหวนที่จะใส่ในเนื้อกระจกตา และ ชนิดของวงแหวนดังกล่าวขึ้นอยู่กับสภาพของกระจกตา ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้ประเมินก่อนผ่าตัด

            วัสดุที่ใช้ทำวงแหวน Ferrara ring คือ อะคริลิก (PMMA : Polymethyl Methacrylate) ซึ่งเป็นวัสดุกลุ่มเดียวกับเลนส์เทียมที่ใช้ในการผ่าตัดต้อกระจก ดังนั้นวัสดุที่ใช้ถือว่าปลอดภัย ทั้งนี้ยังมีการปรับปรุงเพื่อลดเรื่องของแสงกระจายตอนกลางคืนด้วยการใช้วงแหวนที่เป็นสีเหลืองใส

ข้อดีของใส่วงแหวน Ferrrara ring คือ เป็นการผ่าตัดที่ไม่ผ่านส่วนตรงกลางของกระจกตาทำให้กระจกตรงกลางคงความใสเหมือนเดิม ตัวกระจกตาจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร กล่าวคือ เมื่อเอาวงแหวนดังกล่าวออก จะทำให้กระจกตามีความโค้งกลับมาใกล้เคียงเดิมก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน ไม่มีการฉีดยาใด ๆ เพียงหยอดยาชา ผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แผลผ่าตัดเล็กเพียงหนึ่งมิลลิเมตร




การผ่าตัดทำได้สองวิธี
FERRARA RING โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน
Ferrara Ring : โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน

1. วิธีแรกเป็นการผ่าตัดโดยไม่ใช้เลเซอร์ แผลผ่าตัดขนาดหนึ่งมิลลิเมตรจะถูกสร้างโดยมีดเพชร (diamond knife) ลงบนกระจกตา และเซาะร่องในกระจกตาด้วยเครื่องมือพิเศษในชั้นของกระจกตาลึกประมาณ70-80% จากผิวตา หลังจากนั้นจึงใส่วงแหวนตาม 

2. วิธีที่สองเป็นวิธีที่ใช้เลเซอร์(Femtosecond laser) ช่วยในการเซาะร่อง เลเซอร์จะช่วยทำให้เกิดร่องและแผลเช่นเดียวกับวิธีแรก ข้อดีของการใช้เลเซอร์คือทำให้ได้ความลึกที่แม่นยำกว่าและ กระจกตาแห้งน้อยกว่า 
สำหรับการดูแลหลังผ่าตัด งดน้ำเข้าตาประมาณสองสัปดาห์ ห้ามขยี้ตาเนื่องจากอาจทำให้วงแหวนเคลื่อนได้ สายตาจะคงที่ประมาณสามเดือนหลังผ่าตัด


ที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน เริ่มทำผ่าตัดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทย ใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยโรคกระจกตาโป่ง (Keratoconus) กระจกตาย้วย (Pellucid marginal degeneration) กระจกตาโป่งหลังทำเลสิค (Post-LASIK ectasia) และสายตาเอียงหลังได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา (High astigmatism post keratoplasty) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีการมองเห็นที่จำกัดด้วยการใช้แว่นตา ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใส่วงแหวนมีจุดประสงค์เพื่อทำให้กระจกตาแข็งแรงขึ้น ชะลอหรือหยุดการดำเนินของโรคที่เป็น การมองเห็นด้วยตาเปล่าจะชัดเจนมากขึ้นและมีคุณภาพของการมองเห็นดีขึ้น หลังผ่าตัดสามารถใช้วิธีการักษาอื่นร่วมด้วยตามความเหมาะสมกับสภาพตา อันได้แก่ แว่นตา คอนแทคเลนส์ (นิ่มหรือกึ่งแข็ง) การใส่เลนส์เสริมในตา หรือแม้แต่การเปลี่ยนกระจกตาหากมีความจำเป็น

บทความทางการแพทย์โดย 

ศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล ในเครือโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน 


----ปัจจุบันศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล เป็นที่แรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีนี้ในการรักษาโรคกระจกตาโป่งด้วยวิธีเฟอร์ราร่า ริง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2549 โรคกระจกตาโป่ง จะส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาสั้นปานกลางถึงมาก หรือมีค่าสายตาเอียงอย่างไม่เป็นระเบียบ ทั้งนี้สามารถสังเกตุอาการเบื้องต้นได้จากผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนค่าสายตาสั้นหรือเอียงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถแก้ไขด้วยแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ได้ หรือใส่แล้วหลุดบ่อย----

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น