วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

“รัตนิน-กิมเบล” เสนอ “เฟอร์ราร่า ริง” ทางเลือกใหม่ รักษากระจกตาโป่ง (Keratoconus)

“รัตนิน-กิมเบล” เสนอ “เฟอร์ราร่า ริง” ทางเลือกใหม่ รักษากระจกตาโป่ง (Keratoconus)


ศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล เตรียมเสนอใช้“เฟอร์ราร่า ริง” รักษาโรคกระจกตาโป่ง หวังให้เป็นทางออกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถสวมแว่น, คอนแท็ค เลนส์ หรือไม่สามารถรักษาด้วยเลเซอร์ได้ ชี้ไม่ทำให้เจ็บปวดทรมานและใช้เวลาผ่าตัดเพียง 10 นาที โดยภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

นางอรนุช วิวัฒน์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการศูนย์เลสิคและรักษาสายตารัตนิน-กิมเบล ในเครือโรงพยาบาลจักษุ รัตนิน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคกระจกตาโป่งด้วยเทคนิคใหม่ล่าสุดของทางศูนย์ว่า ภายหลังจากที่ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาโรคกระจกตาโป่ง (Keratoconus) ด้วย "เฟอร์ราร่า ริง" (Ferrara Ring: FR) มาระยะหนึ่งแล้ว ทางศูนย์ฯเตรียมจะเปิดให้บริการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าวอย่างเป็นทางการภายในเวลาครึ่งปีต่อจากนี้ คาดว่าจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีนี้ในการรักษา


ทั้งนี้ เฟอร์ราร่า ริง คือ วงแหวนที่ทำมาจากสารพอลิเมทิล เมทาคริเลต (Polymethyl Methacrylate: PMMA) ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกันกับที่ใช้ในการผลิตเลนส์ตาเทียม ไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและไม่มีความเสี่ยงต่อการต่อต้านภายในร่างกายมนุษย์ เมื่อผ่าตัดใส่เข้าไปในชั้นกระจกตาแล้ว เฟอร์ราร่า ริงก็จะทำหน้าที่ขึงกระจกตาที่มีปัญหาหย่อนยานจากโรคกระจกตาโป่งให้ตึงและเป็นระเบียบขึ้น จึงช่วยบรรเทาอาการสายตาสั้นอย่างรวดเร็วจากโรคดังกล่าวซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้ชีวิตได้

สำหรับวงแหวนดังกล่าวจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 มิลลิเมตร และหนาตั้งแต่ 100 - 300 ไมครอนขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคกระจกตาโป่ง โดย ดร. เปาโล เฟอร์ราร่า (Dr. Paulo Ferrara) จักษุแพทย์ชาวบราซิลและคณะเป็นผู้คิดค้นขึ้น และได้เริ่มทำการรักษาด้วยเฟอร์ราร่า ริง กับมนุษย์เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2534 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ได้มีการรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาโป่งอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีผู้รับการรักษาด้วยเฟอร์ราร่า ริง ที่ได้รับใบรับรองทางการแพทย์ของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (CE) ไปแล้วทั่วโลกร่วม 1 หมื่นรายแล้ว


“ข้อดีของการรักษาด้วยเฟอร์ราร่า ริง คือ สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่จำกัดอายุที่ประสบปัญหาโรคกระจกตาโป่ง ที่ส่งผลทำให้มีปัญหาสายตาสั้นปานกลางถึงมาก และมีค่าสายตาเอียงแบบไม่มีระเบียบ หรือผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงหลังการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา หรือสายตาเอียงจากการมีแผลเป็นที่กระจกตาหรือจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีความโค้งของกระจกตาผิดปกติ ทั้งนี้ สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนค่าสายตาสั้นหรือเอียงอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตาหรือทนต่อการใส่คอนแท็ค เลนส์ ได้ หรือใส่แล้วหลุดบ่อย” กรรมการผู้จัดการศูนย์ฯ กล่าว

สำหรับโรคกระจกตาโป่ง สามารถพบได้ประมาณ 4-100 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้กระจกตามีการบางลงอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค ทั้งนี้ มีความเป็นได้เพราะกรรมพันธุ์ หรือพบร่วมกับโรคภูมิแพ้ (Allergy Phenomena) การรักษาโรคดังกล่าว ในระยะเริ่มต้นให้ใส่แว่นตา หากแว่นตาไม่สามารถช่วยได้และโรคมีความรุนแรงขึ้น จะต้องใส่คอนแท็ค เลนส์ชนิดแข็ง และหากอาการรุนแรงขึ้นอีกอาจจะต้องเปลี่ยนกระจกตา อย่างไรก็ตาม โรคกระจกตาโป่งไม่สามารถทำการรักษาได้ด้วยเลเซอร์ทุกประเภท

“ดังนั้น การใส่เฟอร์ราร่า ริง จะเป็นการรักษาผู้ป่วยโรคดังกล่าวเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถใส่แว่นตาและคอนแท็ค เลนส์ได้อีกต่อไป โดยทำการใส่วงแหวนเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้มีรูปร่างที่ปกติขึ้น กระจกตาจะได้มีความแข็งแรงและจะทำให้การเพิ่มขึ้นของค่าสายตาช้าลง โดยการผ่าตัดใส่วงแหวนต้องทำในห้องผ่าตัด ไม่ต้องมีการฉีดยาชา และขั้นตอนตลอดการผ่าตัดทั้งหมดไม่ทำให้เจ็บหรือปวดและใช้เวลาเพียง 10 นาที ซึ่งภายใน 1 สัปดาห์ คนไข้สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ ซึ่งเมื่อใส่เฟอร์ราร่า ริงแล้วผู้ป่วยยังสามารถผสมใส่เฟอร์ราร่าง ริงกับคอนแท็ค เลนส์หรือเลนส์เสริมได้ด้วย” นางอรนุช สรุปทิ้งท้าย

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 11:31 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น